IVF เพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์

  • 16 June 2021
IVF เพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)

ทางเลือกการรักษาภาวะมีลูกยาก

 

การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นทางเลือกการรักษาภาวะมีลูกยากที่เป็นที่นิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง

สำหรับคู่รักมีบุตรยาก ที่ต้องการจะเพิ่มโอกาสมีลูกให้มากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับวิธีอื่น ๆ

ควบคู่กันไปได้ การทำเด็กหลอดแก้วมีขั้นตอนอย่างไรบ้างเรามาดูกันเลย

 

 

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ In-vitro Fertilization (IVF)

 

การทำเด็กหลอดแก้วเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย วิธีการนี้คือ

การเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด แล้วนำมาผสมกับตัวอสุจิเพื่อให้มีการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ

เมื่อได้ตัวอ่อนมาแล้ว จึงค่อยย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปให้ฝังตัวในโพรงมดลูก

                                       

ถ้าการให้อสุจิกับไข่ผสมกันตามธรรมชาติมันยากนัก วิธีการนี้จะมีวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

เริ่มแรกจะมีการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน อัลตราซาวด์ และกระตุ้นไข่ให้สุกพร้อมกันหลาย ๆ ใบ

แพทย์จะนัดให้มาทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสอบขนาดของไข่ กำหนดวันฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก

และกำหนดวันเก็บไข่ออกมาจากร่างกาย เมื่อถึงเวลาไข่ได้ขนาดก็จะเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด

 

ซึ่งการเจาะเก็บฟองไข่ผ่านทางช่องคลอด (ไม่มีแผลหน้าท้อง) ทำโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์

บอกตำแหน่ง แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะดูดฟองไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งการเจาะใช้เวลาไม่นาน

และแพทย์จะให้ยานอนหลับขณะเก็บไข่ เพื่อลดความเจ็บปวดขณะเจาะเก็บไข่

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยตื่นก็สามารถกลับบ้านได้

ส่วนเซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง

และถูกนำไปเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ

 

ในวันที่ฝ่ายหญิงเจาะเก็บฟองไข่ ฝ่ายชายต้องมาทำการเก็บเชื้ออสุจิสำหรับปฏิสนธิ

โดยให้ฝ่ายชายหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ให้ ซึ่งเป็นภาชนะปราศจากเชื้อ

แล้วนำอสุจิที่ได้มาคัดเลือกตัวที่แข็งแรง ก่อนจะนำมาปฏิสนธิกับไข่

และเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และแสง

โดยใช้เวลาเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายทั้งหมด 3 - 5 วัน

ในบางรายที่มีข้อบ่งชี้อาจมีการตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติของตัวอ่อน

และแพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่มีความสมบูรณ์ในการนำย้ายกลับสู่โพรงมดลูกต่อไป

หลังจากนั้นประมาณสองสัปดาห์ แพทย์จะให้ไปวัดระดับฮอร์โมน hCG

เพื่อตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่

 

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว ประกอบไปด้วย

กระตุ้นไข่ > เก็บไข่ > ผสม > เลี้ยงตัวอ่อน 3-5 วัน > (ตรวจเช็กโครโมโซม) > ย้ายกลับเข้าไปที่โพรงมดลูก

 

การย้ายตัวอ่อนจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ

การย้ายตัวอ่อนในรอบสด

คือ ย้ายตัวอ่อนหลังจากเก็บไข่ได้ 3 - 5 วัน

ซึ่งหลังจากย้ายตัวอ่อนไปได้ 7 - 9 วัน ก็จะรู้ผลเลยว่าตัวอ่อนฝังตัวหรือไม่ ท้องหรือไม่ท้อง

แต่การย้ายในรอบสดมีข้อเสียก็คือ อาการอืดแน่นท้อง ท้องโตจากการฉีดยากระตุ้นรังไข่

ทำให้รังไข่บวม รวมถึงระดับฮอร์โมนที่สูงผิดปกติจากรอบธรรมชาติ อาจทำให้สภาพร่างกาย

ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้โอกาสสำเร็จในการย้ายตัวอ่อนในรอบสดอาจน้อยลงตามไปได้

การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง

คือ เมื่อเราได้ตัวอ่อนในรอบสดมาแล้วก็ทำการแช่แข็งเก็บเอาไว้ก่อน เมื่อร่างกายพร้อมสมบูรณ์เมื่อไหร่

ค่อยละลายตัวอ่อนออกมาเพื่อย้ายตัวอ่อนในภายหลัง การย้ายรอบแช่แข็งนั้นจะย้ายหลังจากที่มี

ประจำเดือนประมาณ 3 สัปดาห์ และ 7 - 9 วัน หลังการย้ายตัวอ่อนก็จะรู้ผลเหมือนกันว่าท้องหรือไม่

วิธีนี้จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าแบบแรก แต่หากห้องแล็บไม่ได้มาตรฐาน

ทำให้การละลายตัวอ่อนออกมาใช้มีปัญหา ทำให้คุณภาพตัวอ่อนแย่ลง

โอกาสสำเร็จก็สามารถลดลงไปได้เช่นกัน เมื่อเทียบกับการย้ายตัวอ่อนในรอบสด

 

การปฏิบัติตัวหลังจากย้ายตัวอ่อน

ควรพักผ่อนให้มาก ๆ อย่าให้ท้องของเรากระทบกระเทือน ไม่เดินเร็ว ไม่วิ่งเร็ว

งดการออกกำลังกาย เลี่ยงการนั่งขับถ่ายที่ต้องเบ่งเป็นเวลานาน ๆ

เพราะอาจทำให้มดลูกบีบตัวทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยากเช่นกัน

ส่วนในเรื่องของความเชื่อ ว่าต้องนอนเฉย ๆ ห้ามขยับเด็ดขาด

ถือเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องเสียทีเดียว จริง ๆ แล้วจะนอนตะแคง

พลิกซ้าย - ขวา หรือนอนคว่ำก็สามารถทำได้ แม้กระทั่งการขึ้น – ลงบันได

ก็ยังสามารถทำได้ แต่แค่ต้องเดินช้า ๆ อย่าให้กระแทกแรง

ส่วนอาหารก็ให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ เลี่ยงอาหารรสจัด

ระวังไม่ให้ท้องเสีย จิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อลดการเบ่งถ่ายจากภาวะท้องผูก

เพียงเท่านี้ก็ทำให้โอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวสูงขึ้นได้แล้ว

 

ข้อดี  

การทำเด็กหลอดแก้วเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้น ใช้แก้ปัญหากรณีคุณผู้หญิง

มีปัญหาท่อนำไข่ตัน มีพังผืดขวางทางระหว่างไข่กับทางเข้าท่อนำไข่ ท่อนำไข่เสียหาย

มีปัญหาเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ขั้นรุนแรง หรือปัญหาทางกายวิภาคอื่น ๆ

ที่ทำให้ไข่ไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่ได้ 

บางสถาบันมีอุปกรณ์ที่สามารถแช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือจากการย้ายตัวอ่อน

และสามารถเก็บรักษาตัวอ่อนเอาไว้ได้หลายปี โดยมีคุณภาพเหมือนเดิม

เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ช่วยให้คุณผู้หญิงสามารถ

กลับมารับการย้ายตัวอ่อนได้ซ้ำโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกระตุ้นไข่ใหม่ตั้งแต่ต้น

 

การทำเด็กหลอดแก้วเป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เป็นพื้นฐาน

และมีวิธีอื่นสามารถใช้ควบคู่กันได้อีกหลายอย่าง

เช่น การแก้ปัญหากรณีที่คุณผู้ชายมีปัญหากับน้ำเชื้ออสุจิ

 

ค่าใช้จ่าย

ข้อดีที่เพิ่มมาก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายการทำเด็กหลอดแก้วที่

โรงพยาบาลรัฐจะตกอยู่ที่ราว 70,000 - 80,000 บาท

ค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลเอกชนคิดอยู่ที่ราวเกือบ 150,000 จนถึงราว 200,000 บาทได้

ค่าใช้จ่ายอาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับยากระตุ้นไข่และปริมาณที่ใช้

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายนี้ก็อาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติม

 

ติดต่อ : 083 436 5947

Tags :