มีบุตรยาก ต้องใช้จ่ายเท่าไหร่?

  • 15 June 2021
มีบุตรยาก ต้องใช้จ่ายเท่าไหร่?
สิ่งที่คู่รักมีบุตรยากต้องรู้
มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องเตรียมพร้อม
 
แต่งานช้า อายุเยอะ มีลูกยากทำอย่างไร?
สิ่งที่คู่รักมีบุตรยากต้องรู้ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?
 
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องของการงานและความพร้อมในด้านต่างๆ
ทำให้หนุ่มสาวยุคนี้แต่งงานช้าและมีลูกช้ามากกว่ารุ่นก่อน
บางคนกว่าจะแต่งงานก็ปาไป 30+ 
ซึ่งการแต่งงานช้าก็มีข้อเสียตรงที่ว่าหากคิดจะมีลูก อาจทำให้มีลูกยาก
แม้ว่าจะพยายามด้วยวิธีธรรมชาติเท่าไรก็ไม่สำเร็จ
สุดท้ายจึงต้องพึ่งพาตัวช่วยทางการแพทย์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
ดังนั้นเพื่อให้คู่รักในวัยหนุ่มสาวที่แผนจะมีลูกช้าหรือคู่รักอายุ 30+ ที่มีลูกยาก
แล้วต้องการมีลูกได้เตรียมความพร้อม 
เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
รวมทั้งข้อมูลที่คนมีบุตรยากควรรู้มาฝากกัน
 
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตร
 
ก่อนการแต่งงานหรือก่อนมีบุตร
คู่รักควรตรวจสุขภาพก่อน เพื่อตรวจหาโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งไปยังลูก
หรืออาจเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น ธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน
ความดันโลหิตสูง ทั้งยังดูความพร้อมในการตั้งครรภ์ของพ่อแม่
เช่น มีภาวะมีบุตรยากหรือเปล่า อสุจิแข็งแรงหรือไม่ ประจำเดือนปกติไหม
หรือในกรณีตั้งครรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปี จะมีความเสี่ยงทำให้ทารกเป็นดาวน์ซินโดรมมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ยังช่วยตรวจหาความเสี่ยงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
เช่น ผู้ที่เคยมีประวัติการแท้ง ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น โดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายจะอยู่ในหลักพัน
แต่สำหรับฝ่ายหญิงที่มีอายุมาก อาจต้องตรวจโรคทางนรีเวชเพิ่มเติม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น
 
 
 
การแช่แข็งไข่ อสุจิ และตัวอ่อน
 
มีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้
 
การแช่แข็งตัวอ่อน
คือ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความเย็นเพื่อเก็บรักษาตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิแล้ว
เพื่อจะได้ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในรอบต่อไป หากไม่เกิดการตั้งครรภ์ในรอบแรก
ซึ่งตัวอ่อนที่จะใส่ในแต่ละรอบจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
 
การแช่แข็งไข่
คือ กระบวนการที่ใช้ความเย็นในการเก็บรักษาฟองไข่ หลังจากที่ทำการเจาะดูดไข่
ออกมาจากรังไข่ของฝ่ายหญิง เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิของคู่สมรสในอนาคต
 
การแช่แข็งอสุจิ
คือ กระบวนการที่ใช้ความเย็นในการเก็บรักษาอสุจิ หลังจากที่ทำการเก็บจากฝ่ายชายมาแล้ว
เพื่อรอการถูกนำมาใช้กับคู่สมรสในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI)
หรือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่ฟองไข่ให้เกิดการปฏิสนธิ ที่เรียกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือ ICSI
โดยทั้งอสุจิ ไข่ และตัวอ่อนสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เมื่อต้องการใช้ตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็ง
ตัวอ่อนจะถูกละลายทำให้กลับคืนสู่สภาวะอุณหภูมิเดิมตามขั้นตอนทางห้องปฏิบัติการ
รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพตัวอ่อนหลังละลายว่ามีความเหมาะสมทางการแพทย์ที่จะย้ายฝากเข้าสู่โพรงมดลูกหรือไม่
 
 
 
ระยะเวลาในการแช่แข็งไข่ อสุจิ และตัวอ่อน
 
เวลาในการเก็บตัวอ่อนแช่แข็ง สามารถแช่แข็งได้นานถึง 10 ปี
โดยคุณภาพตัวอ่อนยังคงเดิมและเด็กที่เกิดมาไม่พบความผิดปกติ
ส่วนการแช่ไข่และอสุจิก็สามารถแช่ได้ถึง 10 ปีเช่นกัน
 
คุณภาพของตัวอ่อนหลังแช่แข็ง
หลังการละลายตัวอ่อนออกจากภาวะแช่แข็ง
จะมีโอกาสที่ตัวอ่อนดังกล่าวจะมีคุณภาพที่ลดลงหรือตาย
แต่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่คุณภาพของตัวอ่อนจะยังคงเดิม
 
ประโยชน์ของการแช่แข็งตัวอ่อน
สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อรอบการรักษาลงมาก
ผู้รักษาเจ็บตัวน้อยกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฉีดยากระตุ้นไข่หรือเก็บไข่ ในทุก ๆ เดือนของการรักษา
เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ต่อการเก็บไข่ในแต่ละครั้ง
มีความสะดวกกรณีที่ไม่มีเวลาใส่ตัวอ่อนในรอบนั้น ๆ หรือต้องเดินทาง
แม้ในรายที่ประสบความสำเร็จและคลอดบุตรแล้ว ก็สามารถมารับบริการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งในครั้งต่อไปได้
คู่สมรสที่ทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จแล้ว แต่ยังเหลือตัวอ่อนที่มีคุณภาพอยู่ ก็สามารถแช่แข็งเพื่อใช้ในครั้งต่อไปได้
 
การแช่แข็งไข่และอสุจิ เหมาะกับใคร?
คู่สมรสหนุ่มสาวที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ แต่กลัวว่าเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะทำให้มีบุตรยาก
ผู้ที่ยังไม่แต่งงาน แต่ต้องการนำไข่และอสุจิมาแช่แข็ง เพื่อรอการนำมาใช้เมื่อแต่งงานหรือมีความพร้อม
ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง สามารถทำการเก็บไข่และอสุจิ ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
การฉายแสง เพราะวิธีรักษาดังกล่าวจะทำให้ไข่ฝ่อและคุณภาพของอสุจิลดลง
 
ข้อแนะนำในการเก็บและส่งอสุจิ
 
ควรทำการเก็บอสุจิในขณะที่ร่างกายปกติ หากไม่สบายหรือได้รับยาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ปราศจากการติดเชื้อใด ๆ และทำจิตใจให้สบาย
งดเว้นการหลั่งอสุจิเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน
ล้างมือให้สะอาดและทำการเก็บอสุจิโดยวิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (Masturbation)
เก็บอสุจิทั้งหมดในภาชนะที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้โดยไม่ต้องล้างภาชนะ
ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมีห้องส่วนตัวที่มิดชิด พร้อมห้องน้ำในตัวที่เตรียมไว้สำหรับเก็บอสุจิ
หากเก็บอสุจิมาจากบ้าน ควรนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 1 ชั่วโมง
โดยเก็บอสุจิใส่ภาชนะที่ทางโรงพยาบาลให้ไป โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็นหรือน้ำแข็ง
 
การรายงานผล
ใช้เวลาภายใน 1 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
 
 
การทำเด็กหลอดแก้ว
 
การทำเด็กหลอดแก้วที่รู้จักกันทางการแพทย์ จำแนกออกเป็นทั้งแบบ
IVF (ไอวีเอฟ) และ ICSI (อิ๊กซี่) ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้
 
เด็กหลอดแก้ว (IVF : In Vitro Fertilisation)
ถือกำเนิดครั้งแรกของเด็กหลอดแก้วในปี 1978 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาภาวะมีบุตรยาก
สมัยใหม่และอัตราการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF)
และการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์อื่นๆ ได้ทำการรักษาอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน
และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลสำเร็จที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่า
การรักษาด้วยการใช้วิธีการแบบพื้นฐานต่างๆ เช่น การผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่
 
เด็กหลอดแก้ว (ICSI : Intracytoplasmic Sperm Injection)
คือเทคนิคการใช้อสุจิตัวเดียวดูดเข้าไปในเข็มแก้วเล็ก ๆ แล้วใช้เข็มนั้นเจาะเข้าไปในไข่ใบเดียว
และฉีดอสุจิที่อยู่ในเข็มเข้าไปในไข่ เป็นการช่วยปฏิสนธิในรายที่มีจำนวนตัวอสุจิน้อยมาก
หรืออสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่เองได้ หรืออาจมีความหมายว่า
เป็นวิธีการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรงเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
 
 
 
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีดังนี้
 
กระตุ้นรังไข่ให้ฟองไข่โตพร้อมกันหลายๆ ใบ
โดยปกติจะเริ่มกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2 - 3 ของรอบเดือน ด้วยการฉีดยาติดต่อกัน
เฉลี่ยแล้วจะฉีดประมาณ 8-12 วัน โดยปกติจะต้องการไข่จำนวน 8 - 15 ใบ
(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้หญิงแต่ละคน) ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นไข่ในปัจจุบันเป็นยา
ชนิดที่มีความบริสุทธิ์ของยามากขึ้น ทำให้ฉีดได้ทางหน้าท้อง (จากเดิมฉีดยาเข้าสะโพก)
เป็นการลดความเจ็บปวดจากการฉีดยาได้
 
ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
เมื่อกระตุ้นไข่ด้วยยาแล้ว แพทย์จะทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ ร่วมกับการประเมินระดับฮอร์โมนโดยการตรวจเลือดเป็นระยะ
เมื่อพบว่าขนาดของฟองไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยาฮอร์โมน ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำ
ให้เกิดการความสมบูรณ์ของฟองไข่ หลังจากนั้นจะทำการเจาะเก็บไข่ภายใน 34 - 36 ชั่วโมง
เพื่อดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาเตรียมปฏิสนธิภายนอกร่างกาย
 
เจาะเก็บไข่
การเจาะเก็บฟองไข่ผ่านทางช่องคลอด (ไม่มีแผลหน้าท้อง) ทำโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์บอกตำแหน่ง
แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะดูดฟองไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งการเจาะใช้เวลาไม่นาน และแพทย์จะให้ยานอนหลับขณะเก็บไข่
เพื่อลดความเจ็บปวดขณะเจาะเก็บไข่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยตื่นก็สามารถกลับบ้านได้
ส่วนเซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และถูกนำไปเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ
 
เก็บน้ำเชื้อของฝ่ายชาย
ในวันที่ฝ่ายหญิงเจาะเก็บฟองไข่ ฝ่ายชายต้องมาทำการเก็บเชื้ออสุจิสำหรับปฏิสนธิ โดยให้ฝ่ายชายหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ให้
ซึ่งเป็นภาชนะปราศจากเชื้อ แล้วนำอสุจิที่ได้มาคัดเลือกตัวที่แข็งแรง ก่อนจะนำมาปฏิสนธิกับไข่ด้วยวิธี IVF หรือ ICSI
และเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และแสง
โดยใช้เวลาเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายทั้งหมด 3 - 5 วัน กรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถมาเก็บอสุจิในวันเจาะไข่ได้
อาจนัดมาเก็บล่วงหน้าแล้วทำการแข็งไว้เพื่อเตรียมปฏิสนธิในวันเจาะเก็บไข่ต่อไป
 
เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ
เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว โดยทั่วไปจะทำการเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 3 - 5 วัน
ในบางรายที่มีข้อบ่งชี้อาจมีการตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติของตัวอ่อน
และแพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่มีความสมบูรณ์ในการนำย้ายกลับสู่โพรงมดลูกต่อไป
 
ย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก
การใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก จะทำโดยการใช้หลอดพลาสติกเล็ก ๆ สอดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก
แล้ววางตัวอ่อนลงไปภายใต้การอัลตราซาวนด์ดูตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ขณะใส่ตัวอ่อน คนไข้จะรู้สึกตัวตลอดเวลา
และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ เมื่อใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้นอนพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนกลับบ้าน
และเมื่อถึงบ้านให้นอนพัก ไม่ควรเดินขึ้นลงบันไดมาก ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
หรือการออกกำลังช่วงท้องน้อยหรือหน้าขา และงดมีเพศสัมพันธ์
ซึ่งแพทย์จะมียาสำหรับสอดช่องคลอดและยาฮอร์โมนรับประทานให้ทุกวัน
จนถึงวันนัดครั้งถัดไป จึงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
 
ตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9 - 11 วัน แพทย์จะทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์
ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้
อย่างไรก็ตามอัตราความสำเร็จของแต่ละคู่ อาจจะแตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ทั้งสภาวะร่างกาย และความพร้อมของแต่ละบุคคลด้วย
 
 
ค่าใช้จ่ายของคู่รักมีบุตรยาก
 
ตรวจสุขภาพ ค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 - 25,000 บาท
การแช่แข็งไข่ อสุจิ และตัวอ่อน 130,000 - 150,000 บาท
ทำเด็กหลอดแก้ว 170,000 - 250,000 บาท
 
นอกจากนี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การวางตัวอ่อน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งประมาณ 25,000 บาท
รวมทั้งค่าบริการ ค่ายา ค่าห้อง (ในกรณีที่ต้องพักในโรงพยาบาล) ตลอดจนค่ารักษากรณีที่โรคแทรกซ้อน
โดยรวมแล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 – 100,000 บาท
และเมื่อรวมทั้งหมดแล้วคู่รักต้องเตรียมเงินประมาณ 500,000 – 600,000 บาท
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่คุณเลือกและแพ็กเกจที่คุณสมัครด้วยเช่นกัน
 
ติดต่อ : 083 436 5947

Tags :