เตรียมรับมือร่างกายเปลี่ยนแปลง เมื่อท้อง

  • 30 June 2021
เตรียมรับมือร่างกายเปลี่ยนแปลง เมื่อท้อง
เตรียมรับมือร่างกายเปลี่ยนแปลง เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์
 
  • เส้นผมและหนังศีรษะ
ในช่วงตั้งครรภ์เส้นผมและหนังศีรษะจะมีการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
ที่อยู่ในระดับสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้คุณแม่มีเส้นผมเส้นขนดกดำขึ้น
หนังศีรษะมีความมันจนบางครั้งผมดูลีบแบน จัดทรงยาก
แต่เมื่อคลอดแล้ว ไม่เกิน 2–3 เดือน ผมของคุณแม่จะเริ่มหลุดร่วง
เพราะฮอร์โมนในร่างกายเริ่มปรับลดลงเข้าที่
แม้ช่วงนี้ผมจะร่วงมากสักหน่อยแต่ไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ
 
วิธีรับมือ: 
ไหน ๆ ผมก็มันเยิ้มและจัดทรงยาก
ลองเปลี่ยนทรงผมให้เข้ากับใบหน้า
อย่างผมสั้นเหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ดีกว่าไหม
เพราะดูทะมัดทะแมงและดูแลง่าย
 
แต่ในช่วงไตรมาสแรก
ห้ามย้อมสีผมหรือทำไฮไลท์เด็ดขาดเพราะสารเคมีจะถูกดูดซึม
ผ่านหนังศีรษะไปยังลูกน้อยและอาจเกิดอันตรายต่อทารกได้
 
 
  •  ผิวหนัง
ผิวหนังคล้ำ (Hyperpigmentation)
สีผิวที่คล้ำขึ้นเกิดจากเมลานิน ในชั้นผิวหนังมีเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน
 
ในช่วงที่ท้องทำให้ผิวหนังคล้ำขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรอบสะดือ
อวัยวะเพศ ข้อพับต่าง ๆ แนวกลางหน้าท้อง
จนเกิดเป็นเส้นกลางท้อง (Linea nigra) และใบหน้า
ซึ่งจะมีลักษณะเป็นกระสีน้ำตาล
 
 
  • ตกขาว
โดยทั่วไปคนท้องมักมีอาการตกขาวเนื่องจากร่างกายจะมี
การสร้างของเหลวออกมาหล่อลื่นปากช่องคลอดตลอดเวลา
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากขึ้น
ทำให้เกิดตกขาวในปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย
ลักษณะของตกขาวปกติจะมีสีขาวขุ่นหรือครีม
แต่หากตกขาวมีการเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว เหลือง
ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดจากการติดเชื้อ
 
วิธีรับมือ:
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศไม่ให้อับชื้น
ที่สำคัญกางเกงชั้นในควรระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้ามีความยืดหยุ่น
หมั่นสังเกตด้วยว่า ตกขาวมีลักษณะผิดปกติ หรือ มีเลือดสด ๆ
ติดออกมาด้วยหรือไม่ หากเกิดความผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาคุณหมอโดยด่วน
 
 
  • เต้านมคัดตึง
ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีอาการคัดตึงเต้านมในช่วงก่อนมีประจำเดือน
แต่อาการคัดตึงเต้านม ในช่วงตั้งครรภ์จะมีอาการมากกว่าและมีระยะเวลานานกว่า
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
นอกจากมีอาการคัดตึงแล้วบริเวณหัวนมและปานเต้านมจะมีสีคล้ำขึ้น
ลานหัวนมมีขนาดกว้างขึ้นอาการนี้จะสังเกตได้หลังประจำเดือนขาดไปประมาณ 1 เดือน
 
วิธีรับมือ:
เต้านมจะขยายเรื่อยๆ เพื่อรองรับการสร้างน้ำนมในช่วงตั้งครรภ์
และเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมหลังคลอด
คุณแม่ควรเปลี่ยนไซส์ของชุดชั้นในตามสรีระที่เปลี่ยนไป
เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายขึ้นและช่วยรักษาทรวดทรงของคุณแม่ให้ดูดีอยู่เสมอ
 
 
  • เลือดออกทางช่องคลอด
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
ในช่วง 11-12 วันหลังมีการปฏิสนธิ เนื่องจากตัวอ่อนมีการฝังตัว
บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ลักษณะของเลือดที่ออกมาจะมีสีแดงจาง ๆ
และหยุดไหลไปเองใน 1-2 วัน โดยจะต้องไม่มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย
หากพบว่าเลือดไหลไม่หยุดร่วมกับอาการปวดเกร็งท้อง ควรรีบปรึกษาแพทย์
 
วิธีรับมือ:
ควรนอนพักผ่อนให้มากนอนพักนิ่ง ๆ ไม่ควรออกกำลังมาก
เช่น เดิน วิ่ง หรือออกกำลังกายใด ๆ ทั้งสิ้นและห้ามยกของหนักโดยเด็ดขาด
หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น ปวดท้องมากกว่าเดิม หรือเลือดไหลนานเกินกว่า 3–4 วัน ควรปรึกษาคุณหมอทันที
 
 
  • อาการปวดท้องน้อยบริเวณเหนือหัวหน่าว
อาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยมักจะเกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 4-5
เพราะมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นทารกมีขนาดศีรษะที่ใหญ่ขึ้นตัวใหญ่ขึ้นจนไปกดทับบริเวณกระดูกเชิงกราน 
คุณแม่จะมีอาการปวดและอาจมีอาการตึงบริเวณขาหนีบร่วมด้วย
 
วิธีรับมือ:
นอนเอนหลังในท่าที่สบายหนุนขาสูงขึ้นเล็กน้อย ลดการยืนหรือเดินนาน ๆ
 
 
  • จมูก
รศ. นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
กล่าวว่า ในช่วงตั้งครรภ์อาจเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น
การเพิ่มปริมาณของเลือดในหลอดเลือดของแม่รวมถึงอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน
ซึ่งมีผลในการกระตุ้นระบบประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูก ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกมีการขยายตัว
และมีการกระตุ้นการทำงานของต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อจมูกมากขึ้น ทำให้เกิดอาการทางจมูก
หรือเกิดไซนัสอักเสบได้ง่าย รวมทั้งอาจทำให้โรคของจมูกและไซนัสที่มีอยู่แล้วแย่ลงได้
ส่วนใหญ่อาการต่าง ๆ ของจมูกและไซนัสจะดีขึ้นเองภายใน 5 วันหลังคลอด
 
วิธีรับมือ:
ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี
ไม่ควรอยู่ในที่ ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว
หรือมีอากาศเย็นจัด
เพราะอาจทำให้ไม่สบาย
หรือโรคที่เป็นอยู่กำเริบได้ง่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาคุณหมอ
หากเกิดโรคไซนัสหรือภูมิแพ้ต่าง ๆ
ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด
เพราะยาอาจจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้
 
 
  •  ช่องปาก
ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก
ส่งผลให้น้ำลายในปากมีปริมาณมากขึ้นอาจก่อให้เกิดกลิ่นปาก
และมีอาการเหงือกอักเสบได้ง่ายกว่าปกติ
สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพเหงือกและฟัน
เช่น มีเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือกอักเสบจากการมีหินปูนเกาะก็ทำให้เลือดออกได้ง่าย
 
วิธีรับมือ:
รักษาความสะอาดของช่องปากอยู่เสมอแปรงฟัน หรือบ้วนปาก หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
หากมีอาการเสียวฟัน ฟันผุหรือมีคราบหินปูน ควรให้คุณหมอตรวจหากไม่มีการอักเสบก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าหากมีหินปูนหรือเหงือกอักเสบก็สามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาได้
 
 
  • อารมณ์ทางเพศ
ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่บางคนอาจจะมีอารมณ์ทางเพศมากกว่าปกติ
เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้นระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น
ทำให้เกิดการหลั่งของเหลวมากขึ้น หน้าอกแม่ท้องจะขยายใหญ่ขึ้นและไวต่อสัมผัสมากขึ้น
ซึ่งส่งผลให้คุณแม่มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้นตามไปด้วย
 
วิธีรับมือ:
คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ในท่าที่ปลอดภัยได้
ควรหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักไปที่มดลูก
หรือลงน้ำหนักตัวไปที่ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์
และคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงาย หรือนอนตะแคงขวาเป็นเวลานาน
 
 
  • ริดสีดวงทวารหนัก
แม่ท้องมักมีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักมากกว่าคนปกติ
เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนในขณะท้อง ทำให้เส้นเลือดดำบริเวณลำไส้ใหญ่ขยายขึ้น
ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้าและเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มดลูกก็ใหญ่ขึ้นจนไปกดเส้นเลือดดำ
ทำให้เกิดปัญหาของการไหลเวียนมีเลือดคั่งบริเวณปลายลำไส้ใหญ่
หากเกิดอาการท้องผูกบ่อยๆ อาจจะถ่ายเป็นเลือดและปวดทวารหนัก
 
วิธีรับมือ:
ควรกินอาหารที่มีกากใยมาก ๆ เช่น ผักตำลึง มะรุม
หรือ ผลไม้ เช่น ส้ม มะละกอ ลูกพรุน ชมพู่ มะม่วงสุก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอาการริดสีดวงจะหายไปเมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้ว
 
  • ปัสสาวะบ่อย
ร่างกายในช่วงตั้งครรภ์มีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมของมดลูก
ให้เหมาะกับการเติบโตของทารกในครรภ์มดลูกที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น
จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น และเมื่อเลือดไหลผ่านไตมากขึ้น
ทำให้ไตมีการกรองปัสสาวะมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันมดลูกก็มีขนาดใหญ่ขึ้น
ทำให้ไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ พื้นที่ในการเก็บปัสสาวะจึงมีน้อยลง และส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
 
วิธีรับมือ:
ดื่มน้ำตามปกติไม่ต้องกังวลว่าการดื่มน้ำมาก ๆ จะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย
ควรรักษาความสะอาดให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและไม่ควรอั้นปัสสาวะ
 
 
  • ปวดหลัง
อาการปวดหลังของคนท้องเกิดจากการที่ท้องใหญ่ขึ้น มีการแอ่นตัว และมีน้ำหนัก
ของท้องถ่วงบริเวณด้านหน้า จึงทำให้เกิดอาการปวดบริเวณเอวและก้นกบ
 
วิธีรับมือ:
หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนาน ๆ ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ ใส่รองเท้าส้นเตี้ย และมีพื้นนิ่ม
 
 
  • มีกลิ่นตัว
กลิ่นตัวเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ระดับของเหลวในร่างกายและอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งทำให้คุณแม่เหงื่อออกมากขึ้นเพราะร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกตินั่นเป็นเพราะ
ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและมีการใช้พลังงานมากขึ้นนั่นเอง
 
วิธีรับมือ:
อาบน้ำบ่อย ๆหากกลัวผิวแห้งให้ผสม Baby Oil ลงในน้ำที่อาบสัก 1 - 2 หยด
หมั่นเปลี่ยนเสื้อผ้า ชุดชั้นในเพื่อช่วยลดการระคายเคืองจากเหงื่อ และช่วยลดกลิ่นตัวอีกด้วย
 
 
  •  ท้องแข็ง
มดลูกมีการบีบตัวเป็นครั้งคราวประมาณ 7-8 ครั้งต่อวัน
อาการบีบรัดนี้ คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกแข็งกว่าปกติ
คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องแน่นท้อง ปวดหัวหน่าว และปวดหลังร่วมด้วย
อาการปวดนี้จะอยู่ไม่เกิน 1 นาทีซึ่งถือเป็นอาการปกติ
 
วิธีรับมือ:
กรณีที่อาการท้องแข็งเกิดขึ้นทุก ๆ 10 นาที ในขณะที่อายุครรภ์
ยังไม่ครบกำหนดคลอด ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
เพราะอาจเป็นอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้
 
 
  •  มือและเท้าบวม
 
อิทธิพลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีการสะสมของน้ำในอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น
โดยเฉพาะบริเวณปลายมือ หน้าแข้ง และเท้า ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ต่ำ
ทำให้น้ำไหลลงมาสะสมอยู่บริเวณนั้นและบวมกว่าอวัยวะอื่น ๆ
ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นเท่าไรอาการบวมน้ำก็จะมากขึ้นเท่านั้น
 
วิธีรับมือ:
พักขาบ่อย ๆ หนุนขาสูง ไม่ควรนั่ง หรือยืนนาน ๆ
หากเกิดอาการบวมมากผิดปกติ เช่น หน้าบวม มือ เท้า บวมเป่งผิดปกติ
อาจเกิดครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
 
 
  •  แพ้ท้อง
คนท้องส่วนใหญ่เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 1-2 เดือน
มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หน้ามืด
เหม็นกลิ่นอาหารบางชนิด ชอบกินของเปรี้ยว
บางรายแพ้ท้องจนใกล้ถึงกำหนดคลอด แต่บางรายไม่แพ้เลยก็มี
ซึ่งอาการเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “การแพ้ท้อง”
อาการแพ้ท้องนั้นเป็นผลจากที่ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมน
Human Chorionic Gonadotropin (hCG) มากขึ้น
ร่วมกับระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานมากขึ้น
ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำจนเกิดอาการเวียนศีรษะหน้ามืดได้
 
วิธีรับมือ:
การแพ้ท้องเป็นกลไกของธรรมชาติเพื่อเป็นการปกป้องไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
ทำอันตรายตัวอ่อนของทารก การแพ้ท้องในบางคนอาจรุนแรงมากจนรับประทานอาหารไม่ได้
แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลเพราะอาการแพ้ท้องเหล่านั้นจะค่อย ๆ ทุเลาลง เมื่อพ้นช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว
 
 
 
ติดต่อ : 083 436 5947
 

 

Tags :