กิจกรรมเสริมพัฒนาการ ควรเล่นกับลูกอย่างไร ?

  • 13 August 2021
กิจกรรมเสริมพัฒนาการ ควรเล่นกับลูกอย่างไร ?

 

กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก - 3 ขวบ จากฮาวาร์ด พ่อแม่ควรเล่นกับลูกอย่างไร ?


กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก รวมวิธีการเล่นของลูกน้อย เล่นอย่างไรให้ลูกฉลาด

พัฒนาทั้ง IQ EQ และ EF สำหรับเด็กวัยขวบครึ่ง จนถึง 3 ขวบ

 

กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก วัยขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญมาก ๆ

เนื่องจากลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ความคิด การใช้ภาษา ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย

และทักษะด้านสังคมอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องคอยอธิบายกฎกติกาต่าง ๆ ให้ลูกน้อยฟัง เพื่อให้เด็กเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง

เช่น การเก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จ ระหว่างกินข้าวจะไม่เล่น ไม่เดิน ต้องอาบน้ำก่อนที่จะเล่น เพราะการฝึกวินัยผ่านการใช้กติกา

หากเริ่มในวัยนี้จะช่วยทำให้เด็กพัฒนาการมีวินัย และการควบคุมตนเอง (Self-Regulation) ได้ดีมาก ๆ

กิจกรรมที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่

 

  • การร้องเพลง

เวลาที่ลูกน้อยเต้น ร้องเพลง หรือทำท่าเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ รวมทั้งการขยับนิ้วมือ

ตามเพลง ก็เป็นกิจกรรมที่พัฒนา Working Memory ได้ดีมาก ๆ เช่นกันค่ะ

 

  • กิจกรรมเข้าจังหวะ

กิจกรรมนี้จะทำให้ลูกน้อยได้ฝึกการเคลื่อนไหวช้า - เร็ว หรือหยุดการเคลื่อนไหวตามกติกาที่กำหนด

เช่น การเต้นตามเพลง แล้วเร่งจังหวะของเพลงให้เร็วขึ้น สักพักก็ลดจังหวะของเพลงให้ช้าลง

พอหยุดเพลงก็ให้เด็กหยุดอยู่กับที่ค้างท่านั้นเอาไว้ จนกว่าเพลงจะมาใหม่ เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสามารถฝึกให้เด็กรู้จักที่จะควบคุม และยับยั้งชั่งใจตนเอง (Self-Inhibition) ได้เป็นอย่างดี

 

  • เกมขนาดและรูปทรง

เกมจำพวกต้องหยิบชิ้นวัตถุเพื่อใส่ในช่องที่ตรงกับขนาด และรูปทรงของมันก็เป็นวิธีในการฝึกทักษะการยับยั้งชั่งใจได้ดีมาก ๆ

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกดูแบบขำ ๆ ก็ได้นะคะ เช่น เอาชิ้นส่วนขนาดใหญ่พยายามยัดลงในช่องขนาดเล็ก

ที่ไม่ใช่ช่องของมัน เด็กจะรู้สึกขำ และจะแก้ไขด้วยการหยิบชิ้นใหญ่ชิ้นนั้น ไปหยอดลงในช่องที่ถูกต้องของมัน

จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะท้าให้เด็กเล่นเอง กิจกรรมแบบนี้ จะช่วยทำให้เด็กมีความยับยั้งชั่งใจ

พอทำอะไรอย่างหนึ่งไม่ได้ ก็จะไม่ติดนิสัยดันทุรังทำจนอารมณ์เสีย เด็กจะรู้จักที่จะหยุด และคิดหาวิธีใหม่ในการแก้ปัญหาได้

 

  • บทบาทสมมติ

การเล่นบทบาทสมมุติ เช่น เล่นทำกับข้าว เล่นเป็นคุณหมอ เล่นขายของ หรืออาจจะเอาตุ๊กตาต่าง ๆ

มาเล่นเป็นตัวละครประกอบด้วยก็ได้ การเล่นบทบาทสมมติ จะช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา การคิดแก้ปัญหา

การลำดับขั้นตอน นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนในเรื่องมารยาท และปลูกฝังอุปนิสัย

อันพึงประสงค์ได้อีกด้วย เช่น การเข้าคิว การรู้จักรอคอย การแบ่งหรือผลัดกันเล่น การยอมรับในกติกาการเล่นร่วมกัน เป็นต้น

  

  • ฝึกขว้างสิ่งของ

วัยนี้เหมาะมาก ๆ ที่จะให้เด็กได้สนุกกับการฝึกขว้าง โดยอาจจะให้ลูกโยนลูกบอลลงตะกร้า หรือเล่นรับส่งลูกบอลก็ได้

เพื่อที่จะได้เป็นการพัฒนาการประสานมือและตา การเดินบนกระดานทรงตัว การวิ่งเล่นผ่านทางลาดชัน การกระโดด

และการปีนป่ายต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาด้านการจดจำ คุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มคำสั่ง โดยการบอกลำดับต่าง ๆ

ให้ลูกลองทำตามดูก็ได้เช่น ลูกหยิบลูกบอลสีแดงให้แม่หน่อย ส่วนลูกบอลสีฟ้าให้หยิบไปใส่ตะกร้า เป็นต้น

สำหรับการฝึกการยับยั้งชั่งใจอาจทำผ่านกิจกรรมสนุก ๆ ได้เช่นกัน เช่น แม่อาจจะสั่งลูกว่า

พอลูกเดินไปถึงประตู แล้วให้เดินกลับมาหาแม่เลยนะ ถ้าแม่บอกว่า “หมาป่ามาแล้ว”

ให้วิ่งกลับมาหาแม่เลย เพื่อฝึกให้เขาคุ้นเคยกับการฉุกคิด แล้วหยุดทำ

 

  • ฝึกการเล่าเรื่อง

ให้คุณพ่อคุณแม่นั่งดูเขาเล่นแล้วพูดคุย พร้อมกับสอบถามในสิ่งที่เขากำลังเล่นอยู่ เช่น ต่อตรงนี้เสร็จแล้วลูกจะทำตรงไหนต่อล่ะลูก

มีวิธีอื่นอีกไหมลูก ฯลฯ การสนทนาในรูปแบบนี้จะช่วยฝึกทักษะการพูด และทักษะการคิดวางแผนให้กับลูกได้เป็นอย่างดี

พูดคุยกับลูกถึงกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน เช่น พูดคุยถึงการไปเที่ยวสวนสัตว์ ว่าวันนี้เราไปเจออะไรมาบ้างนะ

หรืออาจจะพูดคุยถึงหนังสือที่อ่านด้วยกันก็ได้เพื่อให้ลูกได้ฝึกคิด กิจกรรมง่าย ๆ เหล่านี้ จะช่วยพัฒนา Working Memory

ให้กับเด็กได้อย่างมากเลย การพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับอารมณ์ที่ลูกรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับลูก ณ ขณะนั้น

เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะถามลูกว่า “ดูเหมือนลูกจะรู้สึกโกรธอยู่ใช่ไหมนะ ทำไมถึงโกรธล่ะ” หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะพูดถึง

อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ เช่น

“เมื่อเช้าตอนที่ลูกรู้สึกเสียใจ นี่เสียใจเรื่องอะไรล่ะ ทำไมถึงต้องร้องไห้อย่างนั้นด้วยล่ะ” เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้ จะค่อย ๆ ช่วยพัฒนาทักษะในการควบคุมอารมณ์ของตนเองให้กับลูกได้

เพราะการตั้งคำถามให้เขาฉุกคิดถึงสาเหตุของการเกิดอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ

จะช่วยทำให้เขาสามารถดึงสติของตัวเองกลับมาได้เร็วขึ้นเมื่อเขาเติบโตขึ้น

 

  • เล่นเกมจับคู่

พ่อแม่ควรให้เด็กได้ฝึกเล่นเกมจับคู่เหมือนการจับกลุ่มสิ่งของที่อยู่ในประเภทเดียวกัน

เช่น มีสีเดียวกัน รูปทรงเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน เป็นสัตว์เหมือนกัน เป็นพืชเหมือนกัน

เป็นภาชนะเหมือนกัน เป็นยานพาหนะเหมือนกัน ฯลฯ

 

 

อ้างอิง

คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก [Internet]. Thaipediatrics.org. [cited 2021 Jan 18].

Available from: www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf


การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก [Internet]. Samitivejhospitals.com. [cited 2021 Jan 18].

Available from: www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

 

 

ติดต่อ : 083 436 5947

Tags :