โรคที่ต้องระวังในเด็กแรกเกิด

  • 27 August 2018
โรคที่ต้องระวังในเด็กแรกเกิด


1. ภาวะติดเชื้อในเด็กแรกเกิด


เด็กแรกเกิดยังมีภูมิต้านทานไม่มากพอจึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กติดเชื้อส่วนใหญ่จะมาจากแม่
ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนาน ๆ
เพราะเชื้อจากช่องคลอดจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ
ก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อและเข้าสู่ร่างกายของลูกได้
ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์หากปวดท้องหรือมีน้ำเดินก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบมาพบแพทย์เลยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะติดเชื้อในลูกที่เกิดมา

เมื่อเด็กทารกที่คลอดออกมาแล้ว อาจมีการแสดงของการอาการติดเชื้อได้หลายอย่างเช่น กินนมน้อย ซึม หายใจผิดปกติ ตัวซีดหรือบางรายอาจมีอาการชักเกร็ง ดังนั้นหากพ่อแม่เห็นว่าทารกมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพาทารกมาพบแพทย์อย่างรวดเร็ว

2. โรคทางเดินหายใจ เช่น จมูก ปอด เนื่องจากเด็กแรกเกิด


ที่เพิ่งออกมาจากครรภ์มารดาเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากการอาศัยการดำรงชีวิตด้วยแม่มาเป็นตัวของตัวเอง
ดังนั้นการทำงานของปอด หรือระบบหายใจอาจจะไม่เต็มที่นัก เรื่องของทางเดินหายใจจึงเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

สำหรับเด็กคลอดปกติและอายุครรภ์ครบปัญหาเรื่องการหายใจจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรืออายุครรภ์ไม่ถึง 36 สัปดาห์ก็จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของปอดเป็นพิเศษ

3. ภาวะตัวเหลือง ภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกเกิดจาก


สารเคมีที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin)เป็นสารสีเหลือง
เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงมีอยู่ในเลือดสูง
ตับของทารกแรกเกิดที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์นั้น
ไม่สามารถกำจัดไปได้หมด จึงส่งผลให้เด็กเกิดอาการตัวเหลืองซึ่งโดยมากมักจะเกิดกับเด็กทารกในช่วง2 -3 วันแรก
ของการคลอด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กจะตัวเหลืองไม่เกิน 10 วัน แต่หากเด็กที่ตัวเหลืองมาก ๆ หรือ ตัวเหลืองในวันแรกที่คลอดออกมาและเหลืองขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์จะเจาะเลือดและติดตามผล ซึ่งในบางรายหากตัวเหลืองมาก ๆ
แพทย์จะใช้วิธีการส่องไฟเพื่อรักษาอาการตัวเหลือง

4. น้ำตาลในเลือดผิดปกติ

สำหรับทารกที่น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าปกติ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจาก สองสาเหตุ
คือ หนึ่ง ตัวคุณแม่ คือถ้าแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ก็อาจจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของทารกได้
สองสาเหตุจากตัวลูก หากทารกที่คลอดมามีน้ำหนักต่ำกว่า
หรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็อาจจะส่งผลต่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกต่ำก็เป็นได้

หากพบกว่าทารกที่คลอดออกมามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือควบคู่กับการกินนมแม่

ที่มา : นพ.อดิศร์ อิงคตานุวัฒน์
กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

Tags :